การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบอย่างมาก หากลืมรายการลดหย่อนภาษีไปแม้แต่รายการเดียว
นั่ยหมายถึงการต้องจ่ายภาษีมากขึ้น
ทุกคนจึงต้องเช็ครายการลดหย่อนภาษีพื้นฐานให้พร้อม
เพื่อจะได้ไม่มีรายการลดหย่อนภาษีไหนตกหล่น โดยหมวดหมู่ของค่าลดหย่อน มี 4
ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว ได้แก่
•ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน
60,000 บาท
•ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน
60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย
และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ (สูงสุด1คน)
•ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน
สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท
(ทั้งนี้การตั้งครรภ์ลูกแฝดจะนับว่าเป็นครรภ์เดียว)
•ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ
30,000 บาท
โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว
และต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่
กรณีมีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ
30,000 บาท สูงสุด 3 คน
กรณีมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน
และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้
แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
•ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ
30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน กล่าวคือ สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000
บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมาอายุมากกว่า 60 ปี
และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
•ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ
60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ
กรณีที่ผู้พิการหรือทุพลภาพเป็นบิดามารดา
บุตร หรือคู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองส่วน ตัวอย่างเช่น
คู่สมรสไม่มีรายได้และเป็นผู้พิการ สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท
(ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท และค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000 บาท)
2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน
เงินออม และการลงทุน ได้แก่
•เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
•เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน
100,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10
ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข
ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
•เบี้ยประกันสุขภาพ
และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน
25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000
บาท
•เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง
สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
•เงินลงทุนธุรกิจ
Social
Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ
Social
Enterprise ตั้งแต่ปี
2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง
สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
•กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน
(Thai
ESG) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
•กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
(RMF
: Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
•กองทุนรวมเพื่อการออม
(SSF
: Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว
สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน
200,000 บาท
•กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(PVD)
/ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้
15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
•กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ
(กบข.) ลดหย่อนได้
30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
•กองทุนการออมแห่งชาติ
(กอช.) ตามที่จ่ายจริง
สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
•เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
*** สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ
ได้แก่ กองทุน RMF กองทุน SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ
เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท **
3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค ได้แก่
•เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง
สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
•เงินบริจาคเพื่อการศึกษา
การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้
2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
•เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน
10,000 บาท เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป
4.
ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ได้แก่
•Easy
e-Receipt 2567 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน
50,000 บาท ตามที่จ่ายจริง
สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax
Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์
(e-Receipt)
ตั้งแต่วันที่
1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 สินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่
สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP
และสินค้าหมวดหนังสือ
(รวมถึง E-Book)
•ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง
2567 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน
15,000 บาท ตามที่จ่ายจริง สำหรับจังหวัดรอง 55 จังหวัด
ประกอบด้วยค่าบริการท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ ค่าแพ็คเกจทัวร์ ค่าที่พักในโรงแรม
รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567
(รอประกาศเป็นกฎหมาย)
•ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น
บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง
สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
•ค่าสร้างบ้านใหม่
2567-2568 สามารถลดหย่อนได้
10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก 1 ล้านบาท (รวม VAT
แล้ว)
รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท โดยจำกัดค่าก่อสร้างบ้านใหม่ไม่เกิน 1 หลัง
สูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาท
เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตามสัญญาจ้างที่ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน
2567 – 31 ธันวาคม 2568